บทที่ 4 ประมวลทฤษฎีการเรียนรู้ที่เป็นสากลและการประยุคสู่การสอน


บทที่ 4
ประมวลทฤษฎีการเรียนรู้ที่เป็นสากลและการประยุคสู่การสอน
ทฤษฎีคืออะไร
ทฤษฎีเกิดขึ้นได้เพราะคนเรามีความสนใจในปรากฏการณ์ต่างๆ รอบตัวและขณะที่สังเกตปรากฏการณ์ต่างๆ เหล่านั้น ก็เกิดความคิดเบื้องต้น (assumption) เกี่ยวกับปรากฏการณ์นั้นขึ้น ความคิดเบื้องต้น เกิดขึ้นจากการใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ประกอบกับความคิดอุปนัย (induction) และความคิดนิรนัย (deduction) ของคนขณะที่สังเกตปรากฏการณ์เหล่านั้น
                อย่างไรก็ตาม เมื่อคนเกิดความคิดเบื้องต้นขึ้นมาแล้ว ความคิดนั้นอาจจะได้รับการยอมรับหรือไม่ได้รับการยอมรับก็ได้ ถ้ามีหลักฐานหรือสามารถพิสูจน์ทดสอบให้เห็นจริงได้ ดังนั้น เมื่อเกิดความคิดเบื้องต้นขึ้นมาแล้ว ผู้คิดค้นจึงจำเป็นต้องไปแสวงหาหลักฐานที่จะสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องยืนยันความคิดนั้น ความคิดต่างๆ ที่มีหลักฐานยืนยันพอสมควรและสามารถนำไปพิสูจน์ทดสอบได้นี้เรียกกันว่าเป็นสมมติฐาน (hypothesis)
                เมื่อทำการทดสอบสมมติฐานจนเป็นที่พอใจแล้ว ผู้คิดค้นก็จะนำความคิดเบื้องต้นมาจัดทำหรือเขียนเป็นทฤษฎีขึ้น
                ทฤษฎีที่ตั้งขึ้นนี้ จะถือว่าเป็นทฤษฎีได้จะต้องมีคุณสมบัติอย่างน้อย 3 ประการคือ
1.             จะต้องสามารถอธิบายความจริงหลักของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้
2.             จะต้องสามารถนิรนัยความจริงหลักนั้นออกมาเป็นกฎหรือความจริงอื่นๆ ได้
3.             จะต้องสามารถทำนายปรากฏการณ์นั้นได้
ประมวลทฤษฎีการเรียนรู้ที่เป็นสากลและการประยุกต์สู่การสอน
แนวความคิดในเรื่องของการเรียนรู้ของมนุษย์ได้รับความสนใจอย่างมากจากนักปรัชญาและนักจิตวิทยามาแต่ในอดีต ซึ่งต่างก็ได้แสดงทัศนะกันไว้อย่างหลากหลายและได้ขยายขอบเขตไปสู่เรื่องของการจัดการศึกษาและการสอน การศึกษาแนวคิดในอดีต นอกจากจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่จะช่วยให้เกิดความเข้าใจในเรื่องของการจัดการศึกษาและเกิดแนวความคิดใหม่ๆ แล้วยังเป็นการทบทวนภูมิปัญญาของนักคิดในอดีตซึ่งอาจจะตกหล่นสูญหายหรือเสื่อมความนิยมไปด้วยกาลและสมัย แต่อาจยังทรงคุณค่ามหาศาลต่อการเรียนรู้ของมนุษย์
การประมวลข้อมูลได้ผ่านกระบวนการที่สำคัญๆ 6 ขั้นตอน ดังนี้
1.             การศึกษาค้นคว้าในรายละเอียด
2.             การวิเคราะห์เพื่อแยกแยะประเด็นและสาระเพื่อให้เกิดความเข้าใจในแต่ละเรื่อง
3.             การกลั่นกรองเพื่อให้ได้แก่น หรือสาระสำคัญของเรื่อง
4.             การอภิปรายเพื่อประยุกต์หลักทฤษฎีการเรียนรู้สู่หลักการสอน
5.             การปรับและเพิ่มเติมตามความเหมาะสม
6.             การเรียบเรียงให้ง่ายต่อการอานและการเข้าใจ
แนวคิดเกี่ยวกับธรรมชาติและพฤติกรรมของมนุษย์
แนวคิดเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์
                ทฤษฎีการเรียนรู้ เริ่มต้นจากแนวคิดของการมองธรรมชาติของมนุษย์ใน 2 ลักษณะ คือด้านจริยธรรมและพฤติกรรมหรือการกระทำ
แนวคิดที่ 1 เชื่อว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมความไม่ดี (innately bad)
แนวคิดที่ 2 เชื่อว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมกับความดี (innately good)
แนวคิดที่ 3 เชื่อว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมกับลักษณะที่เป็นกลาง ไม่ดี ไม่เลว(innately neutral, neither good nor bad)
แนวคิดเกี่ยวกับพฤติกรรมหรือการกระทำของมนุษย์
                นักคิดมีความเชื่อแตกต่างกันเป็น 3 แนว เช่นเดียวกันดังนี้
แนวคิดที่ 1 เชื่อว่าพฤติกรรมของมนุษย์เกิดจากแรงกระตุ้นภายในตัวเอง (active)
แนวคิดที่ 2 เชื่อว่าพฤติกรรมของมนุษย์เกิดจาก อิทธิพลของสิ่งแวดล้อม (passive reactive)
แนวคิดที่ 3 เชื่อว่าพฤติกรรมของมนุษย์ เกิดจากสิ่งแวดล้อมและจากแรงกระตุ้นในตัวบุคคล(interactive)
แนวคิดด้านจริยธรรมและพฤติกรรม เป็นพื้นฐานที่สำคัญของทฤษฎีและหลักการเรียนรู้ต่าง ๆ
สามารถแบ่งได้เป็น 2 ด้าน คือ
1.             ทฤษฎีเกี่ยวกับการเรียนรู้และหลักการสอนในช่วงก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้แก่ ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มจิตนิยม หรือกลุ่มที่เน้นการฝึกจิตหรือสมอง (Mental Discipline)
2.             ทฤษฎีเกี่ยวกับการเรียนรู้และหลักการสอนในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้แก่ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behaviorism) กลุ่มพุทธินิยมหรือความรู้ความเข้าใจ (Cognitivism) กลุ่มมนุษย์นิยม (Humanism) และกลุ่มผสมผสาน (Eclecticsm)
1.ทฤษฎีเกี่ยวกับการเรียนรู้และหลักการสอนในช่วงก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 20 และการประยุกต์สู่การสอน
1.1   ทฤษฎีของกลุ่มที่เน้นการฝึกจิตหรือสมอง(Mental Discipline)  นักคิดกลุ่มนี้มีความเชื่อว่า  จิตหรือสมองหรือสติปัญญา(mind)  สามารถพัฒนาให้ปราดเปรื่องได้โดยการฝึก  ในการฝึกจิตหรือสมองนี้ทำได้โดยให้บุคคลเรียนรู้สิ่งที่ยากๆ ยิ่งยากมากเท่าไร  จิตก็จะได้รับการฝึกให้แข็งแกร่งขึ้นเท่านั้น  หลักการในการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้เน้นการพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้  โดยการกระตุ้นความรู้ในตัวผู้เรียนให้แสดงออกมา  วิธีการสอนแบบโสเครติส(Socratic Method)  และวิธีการสอนแบบบรรยาย(Didactic Method)  เป็นวิธีการสอนตามทฤษฏีนี้ที่ใช้คำถามเพื่อดึงความรู้ในตัวผู้เรียนออกมาให้กระจ่างชัดและช่วยเพิ่มเติมประสบการณ์ให้แก่ผู้เรียน  ซึ่งเป็นวิธีการสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี
1.2   ทฤษฎีของกลุ่มที่เน้นการพัฒนาไปตามธรรมชาติ(Natural Unfoldment)  นักคิดกลุ่มนี้มีความเชื่อว่า  ธรรมชาติคือแหล่งเรียนรู้สำคัญ  เด็กควรจะได้เรียนรู้ไปตามธรรมชาติ  การใช้ของจริงเป็นสื่อในการสอนจะช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้ดี  การเล่นเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญของเด็ก  เด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็กๆ  เด็กมีสภาวะของเด็ก  ซึ่งแตกต่างไปจากวัยอื่น  การจัดการศึกษาให้เด็กจึงควรพิจารณาระดับอายุเป็นหลัก   การจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้เน้นการจัดประสบการณ์เรียนรู้ให้แก่เด็กจะต้องมีความแตกต่างไปจากการจัดให้ผู้ใหญ่  และยึดเด็กเป็นศูนย์กลางให้เสรีภาพแก่เด็กได้เรียนรู้ตามความต้องการและความสนใจของตน  ให้เด็กได้เรียนรู้ตามธรรมชาติและเป็นไปตามธรรมชาติ  โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลและความพร้อมของเด็ก
1.3   ทฤษฎีของกลุ่มที่เน้นการรับรู้และการเชื่อมโยงความคิด(Apperception)  นักคิดกลุ่มนี้มีความเชื่อว่า  การเรียนรู้เกิดจากแรงกระตุ้นภายนอกหรือสิ่งแวดล้อม(neutral - passive)  การเรียนรู้เกิดจากการที่บุคคลได้รับประสบการณ์ผ่านทางประสาทสัมผัสทั้ง 5 (sensation)  และความรู้สึก(feeling) คือ การตีความหรือแปลความหมายจากการสัมผัส  การจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้จึงเน้นให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ผ่านทางประสาทสัมผัสทั้ง 5  และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างความรู้เดิมกับความรู้ใหม่ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจได้เป็นอย่างดี
2.   ทฤษฎีเกี่ยวกับการเรียนรู้ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20
2.1   ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยม(Behaviorism) นักคิดในกลุ่มนี้มองธรรมชาติของมนุษย์ในลักษณะที่เป็นกลาง  คือ  ไม่ดี ไม่เลว  การกระทำต่างของมนุษย์เกิดจากอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมภายนอก  พฤติกรรมของมนุษย์เกิดจากการตอบสนองต่อสิ่งเร้า(stimulus response)  การเรียนรู้เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนอง  กลุ่มพฤติกรรมนิยมให้ความสนใจกับ   พฤติกรรม  มากเพราะพฤติกรรมเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด  สามารถวัดและทดสอบได้  ทฤษฏีการเรียนรู้ในกลุ่มนี้  ประกอบด้วยแนวคิดสำคัญๆ 3 แนวด้วยกัน  คือ
-   ทฤษฎีการเชื่อมโยง(Classical Connectionism)   ของธอร์นไดค์
(Thorndike)  มีความเชื่อว่าการเรียนรู้เกิดจาการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง  ซึ่งมีหลายรูปแบบ  บุคคลจะมีการลองผิดลองถูกปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพบรูปแบบการตอบสนองที่สามารถให้ผลที่พึงพอใจมากที่สุด  เมื่อเกิดการเรียนรู้แล้ว  บุคคลจะใช้รูปแบบการตอบสนองที่เหมาะสมเพียงรูปแบบเดียว  และจะพยายามใช้รูปแบบนั้นเชื่อมโยงกับสิ่งเร้าในการเรียนรู้ต่อไปเรื่อยๆ  การจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้จึงเน้นที่การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนแบบลองผิดลองถูกบ้าง  มีการสำรวจความพร้อมของผู้เรียนซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องกระทำก่อนการสอนบทเรียน  เมื่อผู้เรียนเกิดการเรียนรู้แล้วครูควรฝึกให้ผู้เรียนฝึกการนำการเรียนรู้นั้นไปใช้บ่อยๆ  การศึกษาว่าสิ่งใดเป็นสิ่งเร้าหรือรางวัลที่ผู้เรียนพึงพอใจจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้
-   ทฤษฎีการวางเงื่อนไข(Conditioning Theory)   ประกอบด้วยทฤษฏีย่อย 4 ทฤษฏี  ดังนี้  1)  ทฤษฏีการวางเงื่อนไขแบบอัตโนมัติของพาฟลอฟ (Pavlov’s Classical Conditioning)   เน้นการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไข  สรุปแนวคิดตามทฤษฏีนี้ได้ว่า  การเรียนรู้ของสิ่งมีชีวิตเกิดจากการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไข  2) ทฤษฏีการวางเงื่อนไขแบบอัตโนมัติของวัตสัน (Watson’s Classical Conditioning)  เน้นการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไขเช่นกัน สรุปแนวคิดตามทฤษฏีนี้ได้ว่า  การเรียนรู้จะคงทนถาวรหากมีการให้สิ่งเร้าที่สัมพันธ์กันนั้นควบคู่กันไปอย่างสม่ำเสมอ  3)  ทฤษฏีการวางเงื่อนไขแบบต่อเนื่องของกัทธรี(Guthrie’s Contiguous Conditioning)  เน้นหลักการจูงใจ  สรุปแนวคิดตามทฤษฏีนี้ได้ว่า  การเรียนรู้เมื่อเกิดขึ้นแล้วแม้เพียงครั้งเดียว  ก็นับว่าได้เรียนรู้แล้วไม่จำเป็นต้องทำซ้ำอีก  4)  ทฤษฏีการวางเงื่อนไขแบบโอเปอร์แรนต์ของสกินเนอร์(Skinner’s Operant Conditioning)  เน้นการเสริมแรงหรือให้รางวัล  สรุปแนวคิดตามทฤษฏีนี้ได้ว่า  การกระทำใดๆ ถ้าได้รับการเสริมแรงจะมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอีก  การเสริมแรงที่แปรเปลี่ยนทำให้การตอบสนองคงทนกว่าการเสริมแรงที่ตายตัว  การจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้จึงเน้นที่การเสนอสิ่งเร้าในการเรียนการสอน  การจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง  มีการแสริมแรงหรือให้รางวัลเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความพึงพอใจที่จะเรียนรู้
-   ทฤษฏีการเรียนรู้ของฮัลล์(Hull’s Systematic Behavior Theory)  มีความเชื่อว่าถ้าร่างกายเมื่อยล้า  การเรียนรู้จะลดลง  การตอบสนองต่อการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ดีที่สุดเมื่อได้รับแรงเสริมในเวลาใกล้บรรลุเป้าหมาย  หลักการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้จึงมักคำนึงถึงความพร้อม  ความสามารถและเวลาที่ผู้เรียนจะเรียนได้ดีที่สุด  การจัดการเรียนการสอนควรให้ทางเลือกที่หลากหลายเพื่อตอบสนองระดับความสามารถของผู้เรียน
ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behaviorism)
นักคิดกลุ่มนี้มองธรรมชาติของมนุษย์ในลักษณะที่เป็นกลาง คือ ไม่ดีไม่เลว (neutral-passive)การกระทำต่างๆ ของมนุษย์จากอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมภายนอก เกิดจากการตอบสนองต่อสิ่งเร้า (stimulus-response)การเรียนรู้เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง กลุ่มนี้ให้ความสนใจกับ พฤติกรรม มาก แนวคิดสำคัญๆ 3 แนว คือ ทฤษฎีการเชื่อมโยงของธอร์นไดค์ (Thorndike’s Connectionism)ทฤษฎีการวางเงื่อนไข (Conditioning Theory)ทฤษฎีการเรียนรู้ของฮัลล์ (Hull’s Systematic Behavior Theory)
ทฤษฎีการเชื่อมโยงของธอร์นไดค์ (Thorndike’s Classical Connectionism)
ธอร์นไดค์ (ค..1814-1949)เชื่อว่าการเรียนรู้เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง บุคคลจะมีการลองผิดลองถูก (trial and error)ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพบรูปแบบการตอบสนองที่พึงพอใจมากที่สุด กฎการเรียนรู้ของธอร์นไดค์ คือ กฎแห่งความพร้อม (Low of Readiness)กฎแห่งการฝึกฝน (Low of Exercise)กฎแห่งการใช้ (Low of Use and Disuse)กฎแห่งผลที่พึงพอใจ (Low of Effect)  เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนแบบลองผิดลองถูก สำรวจความพร้อม สร้างความของผู้เรียนหากต้องการให้ผู้เรียนมีทักษะในเรื่องใดจะต้องช่วยให้เขาเกิดความเข้าใจในเรื่องนั้นอย่างแท้จริง ให้ผู้เรียนฝึกนำการเรียนรู้นั้นไปใช้บ่อยๆ ให้ผู้เรียนได้รับผลที่ตนพึงพอใจ
ทฤษฎีการวางเงื่อนไข (Conditioning Theory)
ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบอัติโนมัติ (Classical Conditioning)ของพาฟลอฟ (Pavlov)พาฟลอฟได้ทำการทดลองให้สุนัขน้ำลายไหลด้วยเสียงกระดิ่ง เขาสรุปว่า การเรียนรู้ของสิ่งมีชีวิติเกิดจากการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไข (conditioned stimulus)
ทฤษฎีการวางเงื่อนไขของวัตสัน (Watson)วัตสันได้ทำการทดลองโดยให้เด็กคนหนึ่งเล่นกับหนูขาว ขณะที่เด็กกำลังจับหนูขาว เขาก็ทำเสียงดังจนเด็กตกใจร้องไห้ จากนั้นเด็กก็กลัวหนูขาว ต่อมานำหนูขาวให้เด็กดูโดยแม่จะกอดเด็กไว้ จากนั้นเด็กจะค่อยๆ หายกลัวหนูขาว พฤติกรรมสามารถควบคุมให้เกิดขึ้นได้ เมื่อสามารถทำให้เกิดพฤติกรรมใดๆ ได้ก็สามารถลดพฤติกรรมนั้นให้หายไปได้
ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบต่อเนื่อง (Contiguous Conditioning)ของกัทธรี กัทธรีได้ทำการทดลองโดยปล่อยแมวที่หิวจัดเข้าไปในกล่องปัญหา กฎแห่งความต่อเนื่อง (Low of  Contiguity)เมื่อมีกลุ่มสิ่งเร้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากระตุ้นจะก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของร่างกายอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น การเรียนรู้เกิดขึ้นได้แม้เพียงอย่างเดียว(One trial learning)มีสภาวะสิ่งเร้ามากระตุ้น กฎแห่งการกระทำครั้งสุดท้าย (Low of Recency)การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แล้ว หลักการจูงใจ (Motivation)การเรียนรู้เกิดจากการจูงใจมากกว่าการเสริมแรง
ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบโอเปอร์แรนต์ (Opernat Conditioning)ของสกินเนอร์ (Skinner)สกินเนอร์ได้ทำการทดลองสรุปเป็นกฎการเรียนรู้ดังนี้ การกระทำใดๆ ถ้าได้รับการเสริมแรง จะมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอีก ส่วนการกระทำที่ไม่เสริมแรงมีแนวโน้มที่จะลดลงและหายไปในที่สุด การเสริมแรงที่แปรเปลี่ยนทำให้การตอบสนองคงทนกว่าการเสริมแรงที่ตายตัว การลงโทษทำให้เรียนรู้ได้เร็วและลืมเร็ว การให้แรงเสริมหรือให้รางวัลเมื่อกระทำพฤติกรรมที่ต้องการสามารถช่วยปรับหรือปลูกฝังนิสัยที่ต้องการได้
ทฤษฎีการเรียนรู้ของฮัลล์ (Hull’s Systematic Behavior Theory)ฮัลล์ได้ทำการทดลองโดยฝึกหนูให้กดคาน กล่าวคือ จะทำให้การเชื่อมโยงระหว่างอวัยวะระบบสัมผัส (receptor)กับอวัยวะแสดงออก (effector)เข้มแข็งขึ้น ดังนั้นเมื่อหนูหิวมาก จึงมีพฤตกรรมกดคานเร็วขึ้น กฎแห่งสมรรถภาพในการตอบสนอง (Low of Reactive Inhibition)กล่าวคือ ถ้าร่างกายเมื่อยล้า การเรียนรู้จะลดลง กฎแห่งการลำดับกลุ่มนิสัย (Low of Habit Hierachy)เมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้น แต่ละคนจะมีการตอบสนองต่างๆ กฎแห่งการการใกล้จะบรรลุเป้าหมาย (Goal Gradient Hypothesis)เมื่อผู้เรียนยิ่งใกล้บรรลุเป้าหมายเท่าใดจะมีการตอบสนองมากขึ้นเท่านั้น
ทฤษฎีการเรียนรู้ของพุทธินิยม (Cognitivism)
กลุ่มพุทธินิยมหรือกลุ่มความรู้ความเข้าใจหรือกลุ่มที่เน้นกระบวนการทางปัญญาหรือหรือความคิด นักคิดกลุ่มนี้ เริ่มขยายขอบเขตของความคิดที่เน้นทางด้านพฤติกรรมออกไปสู่กระบวนการทางความคิด ทฤษฎีกลุ่มนี้ที่สำคัญมี 5 ทฤษฎี คือ ทฤษฎีเกสตัสท์ (Gestalt Theory) ทฤษฎีสนาม (Field Theory)ทฤษฎีเครื่องหมาย (Sign Theory)ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญา (Intellectual Development Theory)ทฤษฎีการเรียนรู้อย่างมีความหมาย (A Theory of Meaningful Verbal Learning
ทฤษฎีเกสตัลท์ (Gestalt  Theory)
แนวความคิดหลักของทฤษฏีนี้คือ ส่วนร่วมมิใช่เป็นเพียงผลรวมของส่วนย่อย ส่วนรวมเป็นสิ่งที่มากกว่าผลรวมของส่วนย่อย
กฎของการเรียนรู้ของทฤษฏีนี้สรุปได้ดังนี้
ก.       ทฤษฏีการเรียนรู้
การเรียนรู้ที่เห็นส่วนรวมมากกว่าส่วนย่อยนั้นจะต้องเกิดจาประสบการณ์เดิม และการเรียนรู้ย่อมเกิดขึ้น 2 ลักษณะคือ
1.              การรับรู้ (Perception) การรับรู้เป็นกระบวนการที่บุคคลใช้ประสาทสัมผัสรับสิ่งเร้าแล้วถ่ายโยงเข้าสู่สมองเพื่อผ่านเข้าสู่กระบวนการคิด
2.              การหยั่งเห็น (Insight) เป็นการค้นพบหรือการเกิดความเข้าใจในช่องทางแก้ปัญหาอย่างฉับพลันทันที
ข.      หลักการจัดการศึกษา / การสอน
1.             กระบวนการคิดเป็นกระบวนการสำคัญในการเรียนรู้
2.             การสอนโดยการเสนอภาพรวมให้ผู้เรียนเห็นและเข้าใจก่อนการเสนอส่วนย่อยจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี
3.             การสงเสริมให้ผู้เรียนมีประสบการณ์มากคิดริเริ่มได้มากขึ้น
4.             การจัดประสบการณ์ใหม่
5.             การจัดระเบียบสิ่งเร้าที่ต้องการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี
6.             ในการสอน ครูไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเสนอเนื้อหาทั้งหมดที่สมบูณ์
7.             การเสนอบทเรียนหรือเนื้อหาควรจัดให้มีความต่อเนื่องกัน
8.             การส่งเสริมให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ที่หลากหลาย
ทฤษฎีสนาม (Field Theory)
เคร์ทเลวิน  (Kurt Lewin) เป็นผู้ริเริ่มทฤษฏีนี้ คำว่า “field” มาจากแนวคิดเรื่อง “field of force
ก.       ทฤษฏีการเรียนรู้
1.             พฤติกรรมของคนมีพลังและทิศทาง สิ่งใดที่อยู่ในความสนใจและความต้องการของตนจะมีพลังเป็น + สิ่งที่นอกเหนือจากความสนใจ จะมีพลังงานเป็น – ในขณะหนึ่งคนทุกคนจะมี “โลก” หรือ “อวกาศ” ของตน
2.             การเรียนรู้เกิดขึ้นเมื่อบุคคลมีแรงจูงใจหรือแรงขับที่จะกระทำให้ไปสู่จุดหมายปลายทางที่ตนต้องการ
ข.      หลักการจัดการศึกษา/การสอน
1.             การช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้
2.             การจัดการเรียนรู้ให้เข้าไปอยู่ใน “โลก”ของผู้เรียน
3.             การสร้างแรงจูงใจ
ทฤษฏีเครื่องหมาย(Sign Theory)
ทอลแมน (Tolman) กล่าวว่า “การเรียนรู้เกิดจากการใช้เครื่องหมายเป็นตัวชี้ทางให้แสดงพฤติกรรมไปสู่จุดหมายปลายทาง”
ก.       ทฤษฏีการเรียนรู้
1.             ในการเรียนรู้ต่างๆ ผู้เรียนมีการคาดหมายรางวัล
2.             ขณะที่ผู้เรียนพยายามจะไปให้ถึงจุดหมายปลายทางที่ต้องการผู้เรียนรู้จะเกิดการเรียนรู้เครื่องหมาย สัญลักษณ์ สถานที่ และสิ่งอื่นๆ ที่เป็นเครื่องชี้ทางตามไปด้วย
ข.      หลักการจัดการศึกษา/การสอน
1.             การสร้างแรงขับและแรงจูงใจ
2.             ในการสอนให้ผู้เรียนบรรลุจุดมุ่งหมายใดๆ นั้น ครูควรให้เครื่องหมาย สัญลักษณ์ และสิ่งอื่นๆ ที่เป็นเครื่องชี้ทางควบคู่ไปด้วย
ทฤษฏีพัฒนาการทางสติปัญญา (Humanism)
ทฤษฏีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจต์
เพียเจต์(Piaget) ได้ศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการทางด้านความคิดของเด็กกว่ามีขั้นตอนหรือกระบวนการอย่างไร เขาอธิบายว่า การเรียนรู้ของเด็กเป็นไปตามพัฒนาการทางสติปัญญา ซึ่งจะมีพัฒนาการไปตามวัยต่างๆ เป็นลำดับขั้น พัฒนาการเป็นสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ควรที่เร่งเด็กให้ข้ามจากพัฒนาการขั้นหนึ่งไปสู่อีกขั้นหนึ่งไปสู่อีกขั้นหนึ่ง เพราะจะทำให้เกิดผลเสียแก่เด็ก แต่การจัดประสบการณ์ส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในช่วงที่เด็กกำลังจะพัฒนาไปสู่ขั้นที่สูงกว่า สามารถช่วยให้เด็กพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามเพียเจย์เน้นความสำคัญของการเข้าใจธรรมชาติและพัฒนาการของเด็กมากกว่าการกระตุ้นเด็กให้มีพัฒนาการเร็วขึ้น
ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มมนุษยนิยม ( Humanism )
นักคิดกลุ่มมนุษยนิยม ได้ให้ความสำคัญของความเป็นมนุษย์ และมองมนุษย์ว่ามีคุณค่า มีความดีงาม มีความสามารถ มีความต้องการ และมีแรงจูงใจภายในที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเอง หากว่าบุคคลมีอิสรภาพและเสรีภาพ ก็จะทำให้มนุษย์มีความพยายาม และสามารถพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้
ทฤษฎีการเรียนรู้ของมาสโลว์ ( Maslow , 1962)
ทฤษฎีการเรียนรู้
มนุษย์ทุกคนมีความต้องการพื้นฐานตามธรรมชาติเป็นลำดับขั้น ก็คือ ขั้นความต้องการทางร่างกาย ( physical need)  ขั้นความต้องการความมั่นคงปลอดภัย ( safety need) ขั้นความต้องการความรัก ( love need) ขั้นความต้องการยอมรับและการยกย่องจากสังคม(esteem need ) และขั้นความต้องการที่จะพัฒนาศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ ( self-actualizatasion) หากความต้องการขั้นพื้นฐานได้รับการตอบสนองอย่างพอเพียงสำหรับตนในแต่ละขั้น มนุษย์เราก็จะสามารถพัฒนาตนเองไปสู่ขั้นที่สูงขึ้น
มนุษย์มีความต้องการที่จะรู้จักตนเองและมีการพัฒนาตนเองตามประสบการณ์ที่เรียกว่า “ peak experience” จะเป็นประสบการณ์ของบุคคลที่อยู่ในภาวะดื่มด่ำ จากการรู้จักตนเองตรงตามสภาพความเป็นจริง มีลักษณะน่าตื่นเต้น เป็นความรู้สึกดี เป็นช่วงเวลาที่บุคคลเข้าใจเรื่องใดเรื่องหนี่ง เป็นสภาพที่สมบูรณ์ มีการผสมผสานกลมกลืน และเป็นช่วงเวลาที่แห่งการรู้จักตนเองอย่างแท้จริง ซึ่งบุคคลที่มีประสบการณ์แบบนี้บ่อยๆ จะสามารถพัฒนาตนเองไปสู่ความป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
ทฤษฎีการเรียนรู้ของรอเจอร์ส ( Rogers,1969)
ทฤษฎีการเรียนรู้
มนุษย์จะสามารถพัฒนาตนเองได้ดีหากอยู่ในสภาพการณ์ที่ผ่อนคลายและเป็นอิสระ การจัดบรรยากาศการเรียนที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการเรียนรู้ ( supportive atmosphere) และเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (student-centeredteaching) โดยที่ครูใช้การสอนแบบชี้แนะ (non-directive) และทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน (facilitator)และการเรียนรู้จะเน้นกระบวนการ (process learning) เป็นสำคัญ
แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของโคมส์ ( Combs)
แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้               
ความรู้สึกของผู้เรียนจะมีความสำคัญต่อการเรียนรู้มาก เพราะว่าความรู้สึก และเจตคติของผู้เรียนจะมีอิทธิพลต่อกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน
แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของโนลส์(Knowles)
แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้
1. ผู้เรียนจะเรียนรู้ได้มากหากมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ด้วยตนเอง
2. การเรียนรู้ของมนุษย์เป็นกระบวนการภายใน อยู่ในความควบคุมของผู้เรียนแต่ละคน ผู้เรียนจะนำประสบการณ์ ความรู้ ทักษะและค่านิยมต่าง ๆ เข้ามาสู่การเรียนรู้ของตน
3. มนุษย์จะเรียนรู้ได้ดีหากมีอิสระที่จะเรียนในสิ่งที่ตนต้องการและด้วยวิธีการที่ตนพอใจ
4. มนุษย์ทุกคนมีลักษณะเฉพาะตน ความเป็นเอกัตบุคคลเป็นสิ่งที่มีคุณค่า มนุษย์ควรได้รับการส่งเสริมในการพัฒนาความเป็นเอกัตบุคคลของตน
5. มนุษย์เป็นผู้มีความสามารถและเสรีภาพที่จะตัดสินใจ และเลือกกระทำสิ่งต่าง ๆ ตามที่ตนพอใจ และรับผิดชอบในผลการกระทำนั้น
หลักการจัดการเรียนการสอน
1. การให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียน รับผิดชอบร่วมกันในกระบวนการเรียนรู้ จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี
2. ในกระบวนการเรียนรู้ควรเปิดโอกาสและส่งเสริมให้ผู้เรียน นำประสบการณ์ความรู้ ทักษะ เจตคติและค่านิยมต่าง ๆ ของตน เข้ามาใช้ในการทำความเข้าใจสิ่งใหม่ ประสบการณ์ใหม่
3. ในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน ควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เลือกสิ่งที่เรียนและวิธีเรียนด้วยตนเอง
4. ในกระบวนการเรียนการสอน ครูควรเข้าใจและส่งเสริมความแตกต่างระหว่างบุคคล ควรเปิดโอกาสและส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาคุณสมบัติเฉพาะตน ไม่ควรปิดกั้นเพียงเพราะเขาไม่เหมือนคนอื่น
5. ในกระบวนการเรียนรู้ ควรเปิดโอกาสและส่งเสริมให้ผู้เรียนตัดสินใจด้วยตนเอง ลงมือกระทำ และยอมรับผลการตัดสินใจหรือการกระทำนั้น
แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของแฟร์(Faire)
แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้
                 เปาโลแฟร์(Faire) เชื่อในทฤษฎีของผู้ถูกกดขี่ เขากล่าวว่า ผู้เรียนต้องถูกปลดปล่อยจากการกดขี่ของครูที่สอนแบบเก่า ผู้เรียนมีศักยภาพและมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่จะกระทำ        สิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง
หลักการจัดการเรียนการสอน
ระบบการจัดการศึกษา ควรเป็นระบบที่ให้อิสรภาพและเสรีภาพในการเรียนรู้แก่ผู้เรียน
แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของอิลลิช(Illich)
แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้
                 อิวาน อิลลิช(Ivan Illich) ได้เสนอแนวความคิดเกี่ยวกับการล้มเลิกระบบโรงเรียน (Deschooling) ไว้ว่า สังคมแห่งการเรียนรู้เป็นสังคมที่ต้องล้มเลิกระบบโรงเรียน การศึกษาควรเป็นการศึกษาตลอดชีวิตแบบเป็นไปตามธรรมชาติ โดยให้โอกาสในการศึกษาเล่าเรียนแก่บุคคลอย่างเต็มที่
หลักการจัดการเรียนการสอน
                                การจัดการศึกษาไม่จำเป็นต้องทำในลักษณะระบบโรงเรียน ควรจัดในลักษณะที่เป็นการศึกษาต่อเนื่องไปตลอดชีวิตตามธรรมชาติ
แนวความคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของนีล(Neil)
แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้
                                นีล(Neil) กล่าวว่า มนุษย์เป็นผู้มีศักดิ์ศรี มีความดีโดยธรรมชาติ หากมนุษย์อยู่ในสภาพแวดล้อมที่อบอุ่น บริบูรณ์ไปด้วยความรัก มีอิสรภาพและเสรีภาพ มนุษย์จะพัฒนาไปในทางที่ดีทั้งต่อตนเองและสังคม
หลักการจัดการเรียนการสอน
                 การให้เสรีภาพอย่างสมบูรณ์แก่ผู้เรียนในการเรียน เรียนเมื่อพร้อมที่จะเรียน จะช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาไปตามธรรมชาติ
ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มผสมผสาน (Eclecticism)
                 กานเย (Gagne) เป็นนักจิตวิทยาและนักการศึกษาในกลุ่มผสมผสานระหว่างพฤติกรรมนิยมและพุทธินิยม (Behavior Cognitivist) เขาอาศัยทฤษฎีและหลักการที่หลากหลาย เนื่องจากความรู้มีหลายประเภท บางประเภทสามารถเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องใช้ความคิดที่ลึกซึ้ง บางประเภทมีความซับซ้อนมาก จำเป็นต้องใช้ความสามารถในขั้นสูง กานเย่ ได้จัดขั้นการเรียนรู้ซึ่งเริ่มจากง่ายไปหายาก โดยผสมผสานทฤษฎีการเรียนรู้ของกลุ่มพฤติกรรมนิยม และพุทธินิยมเข้าด้วยกัน
ทฤษฎีการเรียนรู้
                         1. กานเย่ ได้จัดประเภทการเรียนรู้ เป็นลำดับขั้นจากง่ายไปหายากไว้ 8 ประเภท ดังนี้
                                1.1 การเรียนรู้สัญญาณ (Signal – Learning) เป็นการเรียนรู้ที่เกิดจากการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เป็นไปโดยอัตโนมัติ อยู่นอกเหนืออำนาจจิตใจ ผู้เรียนไม่สามารถบังคับพฤติกรรมไม่ให้เกิดขึ้นได้ การเรียนรู้แบบนี้เกิดขึ้นจากการที่คนเรานำเอาลักษณะการตอบสนองที่มีอยู่แล้วมาสัมพันธ์กับสิ่งเร้าใหม่ที่ทีความใกล้ชิดกับสิ่งเร้าเดิม การเรียนรู้แบบสัญญาณเป็นลักษณะการเรียนรู้แบบวางเงื่อนไขของพาฟลอฟ
                                1.2 การเรียนรู้สิ่งเร้า การตอบสนอง (Stimulus – Response Learning) เป็นการเรียนรู้ต่อเนื่องจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนอง แตกต่างจากการเรียนรู้สัญญาณ เพราะผู้เรียนสามารถควบคุมพฤติกรรมตนเองได้ ผู้เรียนแสดงพฤติกรรมเนื่องจากได้รับการเสริมแรง เป็นการเรียนรู้ตามทฤษฎีการเรียนรู้แบบเชื่อมโยงของธอร์นไดค์ และการเรียนรู้แบบวางเงื่อนไขของ สกินเนอร์ซึ่งเชื่อว่าการเรียนรู้เป็นสิ่งที่ผู้เรียนเป็นผู้กระทำเองมิใช่รอให้สิ่งเร้าภายนอกมากระทำพฤติกรรมที่แสดงออกเกิดจากสิ่งเร้าภายในของผู้เรียนเอง
                                1.3 การเรียนรู้เชื่อมโยงแบบต่อเนื่อง (Chaining) เป็นการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนองที่ต่อเนื่องกันตามลำดับ เป็นพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกระทำ การเคลื่อนไหว
                                1.4 การเชื่อมโยงทางภาษา (Verbal Association) เป็นการเรียนรู้ในลักษณะคล้ายกับการเรียนรู้การเชื่อมโยงแบบต่อเนื่อง แต่เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ภาษา การเรียนรู้แบบการรับสิ่งเร้า การตอบสนอง เป็นพื้นฐานการเรียนรู้แบบต่อเนื่องและการเชื่อมโยงภาษา
                                1.5 การเรียนรู้ความแตกต่าง (Discrimination Learning) เป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถมองเห็นความแตกต่างของสิ่งต่าง ๆ โดยเฉพาะความแตกต่างตามลักษณะของวัตถุ
                                1.6 การเรียนรู้ความคิดรวบยอด (Concept Learning) เป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถจัดกลุ่มสิ่งเร้าที่มีความเหมือนกันหรือแตกต่างกัน โดยสามารถระบุลักษณะที่เหมือนกันหรือแตกต่างกันได้ พร้อมทั้งสามารถขยายความรู้ไปยังสิ่งอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากที่เคยเห็นมาก่อน
                                1.7 การเรียนรู้กฎ (Rule Learning) เป็นการเรียนรู้ที่เกิดจากการรวมหรือเชื่อมโยงความคิดรวบยอดตั้งแต่สองอย่างขึ้นไป และตั้งเป็นกฎเกณฑ์ขึ้น การที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้กฎเกณฑ์จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถนำการเรียนรู้นั้นไปใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ กันได้
                                1.8 การเรียนรู้การแก้ปัญหา (Problem Solving) เป็นการเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา โดยการนำกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มาใช้ การเรียนรู้แบบนี้เป็นกระบวนการที่เกิดภายในตัวผู้เรียน เป็นการใช้กฎเกณฑ์ในขั้นสูงเพื่อการแก้ปัญหาที่ค่อนข้างซับซ้อน และสามารถนำกฎเกณฑ์ในการแก้ปัญหานี้ไปใช้กับสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน
                         2. กานเย่ ได้แบ่งสมรรถภาพการเรียนรู้ของมนุษย์ไว้ 5 ประการ ดังนี้
                                2.1 สมรรถภาพในการเรียนรู้ข้อเท็จจริง (Verbal Information) เป็นความสามารถในการเรียนรู้ข้อเท็จจริงต่าง ๆ โดยอาศัยความจำและความสามารถระลึกได้
                                2.2 ทักษะเชาวน์ปัญญา (Intellectual Skills) หรือทักษะทางสติปัญญา เป็นความสามารถในการใช้สมองคิดหาเหตุผล โดยใช้ข้อมูล ประสบการณ์ ความรู้ ความคิดในด้านต่าง ๆ นับเป็นการเรียนรู้ขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นทักษะง่าย ๆ ไปสู่ทักษะที่ยากสลับซับซ้อนมากขึ้น ทักษะเชาวน์ปัญญาที่สำคัญที่ควรได้รับการฝึก คือ ความสามารถในการจำแนก (Discrimination) ความสามารถในการคิดรวบยอดเป็นรูปธรรม (Concrete Concept) ความสามารถในการให้คำจำกัดความของความคิดรวบยอด (Defined Concept) ความสามารถในการเข้าใจกฎและใช้กฎ (Rules) และความสามารถในการแก้ปัญหา
                                2.3 ยุทธศาสตร์ในการคิด (Cognitive Strategies) เป็นความสามารถของกระบวนการทำงานภายในสมองของมนุษย์ ซึ่งควบคุมการเรียนรู้ การเลือกรับรู้ การแปลความ และการดึงความรู้ ความจำ ความเข้าใจ และประสบการณ์เดิมออกมาใช้ ผู้มียุทธศาสตร์ในการคิดสูง จะมีเทคนิค มีเคล็ดลับในการดึงความรู้ ความจำ ความเข้าใจและประสบการณ์เดิมที่สะสมเอาไว้ออกมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถแก้ปัญหาที่มีสถานการณ์ที่แตกต่างกันได้อย่างดี รวมทั้งสามารถแก้ปัญหา   ต่าง ๆ ได้อย่างสร้างสรรค์
                                2.4 ทักษะการเคลื่อนไหว (Motor Skills) เป็นความสามารถ ความชำนาญในการปฏิบัติ หรือการใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ผู้ที่ทักษะการเคลื่อนไหวที่ดีนั้น พฤติกรรมที่แสดงออกมาจะมีลักษณะรวดเร็ว คล่องแคล่ว และถูกต้องเหมาะสม
                                2.5 เจตคติ (Attitudes) เป็นความรู้สึกนึกคิดของบุคคลที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจของบุคคลนั้นในการที่จะเลือกกระทำหรือไม่กระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
หลักการจัดการเรียนการสอน
                         1. กานเย่ ได้เสนอรูปแบบการสอนอย่างเป็นระบบ โดยพยายามเชื่อมโยงการจัดสภาพการเรียนการสอนอันเป็นสภาวะภายนอกตัวผู้เรียนให้สอดคล้องกับกระบวนการเรียนรู้ภายใน ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ภายใน ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในสมองของคนเรา กานเย่ อธิบายว่า การทำงานของสมองคล้ายกับการทำงานของคอมพิวเตอร์
                         2. ในระบบการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้สอดคล้องกับกระบวนการเรียนรู้นั้น กานเย่ เสนอระบบการสอน 9 ขั้น ดังนี้
                                ขั้นที่ 1 สร้างความสนใจ (Gaining Attention) เป็นขั้นที่ทำให้ผู้เรียนสนใจในบทเรียน เป็นแรงจูงใจที่เกิดขึ้นทั้งจากสิ่งที่ยั่วยุภายนอก และแรงจูงใจที่เกิดจากตัวผู้เรียนเองด้วย ครูอาจใช้วิธีการสนทนา ซักถาม ทายปัญหา หรือมีวัสดุ อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่กระตุ้นให้ผู้เรียนตื่นตัว และมีความสนใจในการเรียนรู้
                                ขั้นที่ 2 แจ้งจุดประสงค์ (Informing the Learning of the Objective) เป็นการบอกให้ผู้เรียนทราบถึงเป้าหมายหรือผลที่จะได้รับจากการเรียนบทเรียนนั้นโดยเฉพาะ เพื่อให้ผู้เรียนเห็นประโยชน์ในการเรียน เห็นแนวทางของการจัดกิจกรรมการเรียน ทำให้ผู้เรียนวางแผนการเรียนของตนเองได้ นอกจากนั้นยังสามารถช่วยให้ครูดำเนินการสอนตามแนวทางที่นำไปสู่จุดหมายได้เป็นอย่างดี
                                ขั้นที่ 3 กระตุ้นให้ผู้เรียนระลึกถึงความรู้เดิมที่จำเป็น (Stimulating Recall of Prerequisite Learned Capabilites) เป็นการทบทวนความรู้เดิมที่จำเป็นต่อการเชื่อมโยงให้เกิดความรู้ใหม่ เนื่องจากการเรียนรู้เป็นกระบวนการต่อเนื่อง
                                ขั้นที่ 4 เสนอบทเรียน (Presenting the Stimulus) เป็นการเริ่มกิจกรรมของบทเรียนใหม่โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่เหมาะสมประกอบการสอน
                                ขั้นที่ 5 ให้แนวทางการเรียนรู้ (Providing Learning Guidance) เป็นการช่วยให้ผู้เรียนสามารถทำกิจกรรมด้วยตัวเอง ครูอาจแนะนำวิธีการทำกิจกรรม แนะนำแหล่งค้นคว้าเป็นการนำทาง ให้แนวทางผู้เรียนไปคิดเอง
                                ขั้นที่ 6 ให้ลงมือปฏิบัติ (Eliciting the Performance) เป็นการให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถแสดงพฤติกรรมตามจุดประสงค์
                                ขั้นที่ 7 ให้ข้อมูลป้อนกลับ (Feedback) เป็นขั้นที่ครูให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลการปฏิบัติกิจกรรมหรือพฤติกรรมที่ผู้เรียนแสดงออกว่ามีความถูกต้องหรือไม่ อย่างไร เพียงใด
                                ขั้นที่ 8 ประเมินพฤติกรรมการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ (Assessing the Performance) เป็นขั้นการวัดและประเมินผลว่าผู้เรียนสามารถเรียนรู้ตามจุดประสงค์การเรียนรู้ของบทเรียนเพียงใด ซึ่งอาจทำการวัดโดยการใช้ข้อสอบ แบบสังเกต การตรวจผลงาน หรือการสัมภาษณ์ แล้วแต่ว่าจุดประสงค์นั้นต้องการวัดพฤติกรรมด้านใด แต่สิ่งที่สำคัญคือ เครื่องมือที่ใช้วัดจะต้องมีคุณภาพ มีความเชื่อถือได้ และมีความเที่ยงตรงในการวัด
                                ขั้นที่ 9 ส่งเสริมความแม่นยำและการถ่ายโอนการเรียนรู้ (Enhancing Retention and Transfer) เป็นการสรุป การย้ำ ทบทวนการเรียนที่ผ่านมาเพื่อให้ผู้เรียนมีพฤติกรรมการเรียนรู้ที่ฝังแน่นขึ้น กิจกรรมในขั้นนี้อาจเป็นแบบฝึกหัด การให้ทำกิจกรรมเพิ่มพูนความรู้ รวมทั้งการให้ทำการบ้าน การทำรายงาน หรือหาความรู้เพิ่มเติมจากความรู้ที่ได้ในชั้นเรียน
สรุป
                 ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นช่วงที่มีนักคิด นักจิตวิทยา และนักการศึกษาเกิดขึ้นจำนวนมาก โดยเริ่มที่ทฤษฎีกลุ่มพฤติกรรมนิยม ประกอบด้วยทฤษฎีการเชื่อมโยงของธอร์นไดค์ ทฤษฎีการวางเงื่อนไขของพาฟลอฟ วัตสัน สกินเนอร์ฮัลล์ ต่อมานักจิตวิทยา นักการศึกษา เริ่มให้ความสนใจเกี่ยวกับกระบวนการความคิดหรือทางสมอง ในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญในการทำให้เกิดการเรียนรู้ ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพุทธินิยม หรือปัญญานิยม จึงเกิดขึ้น  ที่สำคัญคือ ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจต์และบรุนเนอร์ ซึ่งเป็นฐานสำคัญของทฤษฎีการเรียนรู้ที่นิยมกันในปัจจุบัน ต่อมานักจิตวิทยา และนักการศึกษาเริ่มให้ความสนใจในเรื่องของจิตใจและความรู้สึกของมนุษย์ อันก่อให้เกิดทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มมนุษย์นิยมขึ้น นักทฤษฎีที่สำคัญได้แก่ มาสโลว์ รอเจอร์ส เป็นต้น
                ทฤษฎีแต่ละทฤษฎีต่างก็มีจุดเด่นและจุดอ่อนในตัวเอง ดังนั้น จึงเกิดมีนักจิตวิทยาและนักการศึกษาที่เริ่มผสมผสานแนวคิดหลายแนวเข้าด้วยกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าในแต่ละช่วงได้มีการพัฒนาในลักษณะเต็มตัวส่วนที่ยังบกพร่องหรือส่วนที่ยังขาดอยู่ จนกระทั่งทำให้ได้ข้อความรู้ที่สมบูรณ์ขึ้น ทฤษฎีการเรียนรู้ นับเป็นรากฐานที่มาของหลักฐานทางการสอน โดยการสอนได้นำข้อความรู้มาประยุกต์ใช้ ทฤษฎีการเรียนรู้บางทฤษฎีกล่าวเฉพาะการเรียนรู้ โดยไม่ได้กล่าวถึงการสอน แต่ทฤษฎีการเรียนรู้บางทฤษฎีได้ประยุกต์ความรู้สู่การสอนให้ด้วย